วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ความหมายของการท่องเที่ยว

aaaaaaผู้ใหญ่สมัยก่อนย้อนหลังไปเพียง  50-60 ปี  มักจะสั่งสอนลูกหลานว่า “อย่าเที่ยวเตร่ให้มากนักจะเสียผู้เสียคน”  ทั้งนี้ เพราะภาพลักษณ์ของคำว่า “ท่องเที่ยว”  ในสมัยที่การคมนาคมถนนหนทางยังไม่สะดวก  จะเป็นการเที่ยวเสเพลบ่อนเบี้ยในละแวกบ้าน  ผู้ใหญ่ก็ออกเดินทางรอนแรมไปกับกองเกวียนในหน้าแล้งเพื่อไปไหว้พระพุทธบาท  ไปทำบุญยังวัดวาอารามที่อยู่ห่างไกลจากถิ่นที่อยู่ของตน  หรือล่องเรือไปทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ยังวัดริมน้ำในจังหวัดไกลๆ เพียงแต่เขาไม่พูดกันว่าไปเที่ยวพระบาทหรือไปเที่ยววัด  เพราะฟังดูขัดกับความรู้สึกของพุทธศาสนิกชนที่ถือว่าวัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ควรนับเป็นที่เที่ยว

ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงเป็นการเดินทางที่เกิดขึ้น  ตามเงื่อนไข  3 ประการ คือ
1. เป็นการเดินทางจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราว
2. เป็นการเดินทางด้วยความสมัครใจ
3. เป็นการเดินทางด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม ที่มิใช่เพื่อประกอบอาชีพหรือหารายได้
aaaaaเมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ท่องเที่ยว” ในปัจจุบันเรามองเห็นภาพชาวต่างประเทศสะพายกล้องถ่ายรูปเดินกันเป็นกลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างอยู่ตามวัด  วัง โบราณสถาน หรือนุ่งน้อยห่มน้อยอาบแดดอยู่ตามชายหาด  และอีกจำนวนไม่น้อยที่ไปเที่ยวชมป่าเขาลำเนาไพร  เรามักจะมองเห็นว่าชาวต่างประเทศเหล่านี้ได้ใช้จ่ายเงินเป็นค่าที่พัก  ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปชมสถานที่ต่างๆ ค่าซื้อของฝากของที่ระลึก  โดยที่เราไม่คิดว่านั่นเป็นเงินตราต่างประเทศเข้ามาใช้จ่ายในบ้านเมืองของเรา  ในขณะเดียวกันเรามักจะไม่คิดถึงคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวอยู่ภายในประเทศทั้งๆ ที่นักท่องเที่ยวคนไทยเหล่านี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากทุกปี  เพราะการเดินทางท่องเที่ยวนั้นเป็นการผ่อนคลายความเคร่งเครียดพร้อมๆ  กับการได้รับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณี  ได้เห็นภูมิประเทศที่แปลกตาและได้สร้างความสัมพันธ์กับคนต่างถิ่นด้วย  เมื่อการคมนาคมสะดวก  การเดินทางท่องเที่ยวกลายเป็นความนิยม  ธุรกิจต่างๆ   ก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางการท่องเที่ยวมากมาย  ทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรง  เช่น ธุรกิจการขนส่ง ธุรกิจที่พักและอาหาร ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจการค้า  ของที่ระลึก  ธุรกิจเหล่านี้ขายบริการให้กับตัวนักท่องเที่ยวเอง  และยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องทางอ้อม  เช่น การก่อสร้างอาคาร  ที่พัก  ร้านอาหาร  การผลิตสินค้าเกษตรกรรม  เพื่อขายให้แก่ธุรกิจที่พักและอาหาร  การผลิตสินค้าหัตถกรรมพื้นบ้านเพื่อส่งร้านค้าของที่ระลึก  เป็นต้น ธุรกิจเหล่านี้จะก่อให้เกิดงานอาชีพใหม่ๆ และการกระจายเงินตราซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศนั่นเอง (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, 2529:3)
ความหมายของการท่องเที่ยว (Tourism)
                ในปี พ.ศ. 2506 (ค.ศ. 1963) องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมว่าด้วยการเดินทางและท่องเที่ยวระหว่างประเทศขึ้นที่กรุงโรม  ประเทศอิตาลี  และได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “การท่องเที่ยว”  ไว้ว่า “การเดินทางเพื่อความบันเทิงรื่นเริงใจ  เยี่ยมญาติ หรือการไปร่วมประชุมแต่มิใช่เพื่อการประกอบอาชีพเป็นหลักฐานหรือไม่พำนักอยู่เป็นการถาวร”
aaaaaaaองค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization : W.T.O) ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยวดังนี้ “Tourism comprises the activities of the person traveling to and staying in places outside their usual environment  for not more than one consecutive year for leisure, business and other purpose.”     จากความหมายนี้สรุปได้ว่า การท่องเที่ยว หมายถึง การเดินทางของบุคคลจากที่อยู่อาศัยปกติไปยังที่อื่นเป็นการชั่วคราว (ไม่มากกว่า 1 ปี ติดต่อกัน) เดินทางด้วยความสมัครใจเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ติดต่อธุระและวัตถุประสงค์ใดๆก็ได้ แต่ไม่ใช่เพื่อการประกอบอาชีพ หรือหารายได้
gggggggสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว (2546) การท่องเที่ยว หมายถึง การเดินทางเพื่อผ่อนคลายความเครียด แสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่า การเดินทางนั้น เป็นการเดินทางเพียงชั่วคราว ผู้เดินทางจะต้องไม่ถูกบังคับให้เดินทาง
ssssssssไพฑูรย์ พงศะบุตร และวิลาสวงศ์ พงศะบุตร (2542) ได้ให้ความหมายของการท่องเที่ยว (Tourism) หมายถึง การเดินทางไปเยือนสถานที่ต่างถิ่นซึ่งไม่ใช่เป็นที่พำนักอาศัยประจำของบุคคลนั้น และเป็นการไปเยือนชั่วคราวโดยไม่ใช่เพื่อเป็นการประกอบอาชีพหารายได้
ssssssssจากคำนิยามและความหมายของการท่องเที่ยว (Tourism) ผู้เขียนหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ข้างต้นสรุปได้ดังนี้ “การท่องเที่ยว” (Tourism) หมายถึง การเดินทางของมนุษย์จากสถานที่ใดสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่ง หรือการเดินทางจากถิ่นพำนักที่อาศัยไปยังสถานที่อื่นเป็นการชั่วคราวด้วยความสมัครใจไป และเป็นการเดินทางด้วยเหตุผลของการท่องเที่ยวมิใช่เพื่อการประกอบอาชีพ หรือหารายได้ เช่น การเดินทางเพื่อการพักผ่อน การเดินทางเพื่อไปชมการแข่งขันกีฬา (อาทิ การแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ โอลิมปิก     เป็นต้น) การเดินทางเพื่อการศึกษา การเดินทางเพื่อประชุมสัมมนา การเดินทางเพื่อเยี่ยมเยือนญาติพี่น้อง หรือเพื่อน  การเดินทางเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เป็นต้น
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นการท่องเที่ยว
 1. การเดินทางเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจเพื่อสุขภาพ เช่น การไปเที่ยวทะเลในวันหยุดการเดินทางไปอาบน้ำแร่ตามธรรมชาติเพื่อสุขภาพ  หรือรักษาโรคผิวหนังบางชนิด
2. การเดินทางไปประชุมหรือประกอบภารกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น การไปเล่นกีฬา การไปสัมมนา การไปจาริกแสวงบุญทางศาสนา เป็นต้น
3. การเดินทางเพื่อทำธุรกิจบางอย่าง เช่น การสำรวจตลาด การตรวจสิ่งของที่สั่งการติดต่อธุรกิจ เป็นต้น
ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ไม่จัดว่าเป็นการท่องเที่ยว
1. การเดินทางไปประกอบอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดในประเทศนั้นๆ
2. การเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรในประเทศนั้นๆ
3. การเดินทางไปทำงานต่างประเทศ  ไม่ว่าผู้ที่ไปอยู่ประจำหรือไปเช้าเย็นกลับ (กรณีอยู่ชายแดน)
4. การเดินทางไปเพื่อการศึกษา ไปเป็นนักเรียน นักศึกษาและอยู่หอพัก
5. การเดินทางโดยมิต้องลงจากยวดยานพาหนะ (พรสวรรค์ มโนพัฒนะ,  2553)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น